ยาสีฟัน มีกี่ประเภท
1.ยาสีฟันฟลูออไรด์ แร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติชนิดนี้เป็นส่วนผสมสำคัญอันดับแรกที่ควรมองหาเมื่อเลือกซื้อยาสีฟัน เนื่องจากยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์มีคุณสมบัติในการปกป้องฟันจากกรดที่แบคทีเรียภายในปากปล่อยออกมาขณะจับตัวกับน้ำตาลซึ่งตกค้างจากการรับประทานอาหาร โดยสารฟลูออไรด์จะส่งผลให้เคลือบฟันแข็งแรงขึ้น ทำให้ฟันมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากกรดดังกล่าวลดน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ฟันบริเวณที่เพิ่งเริ่มเกิดการผุกร่อนกลับมามีสุขภาพดีดังเดิมได้
อย่างไรก็ตาม การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียทำให้เกิดการตกกระที่ฟันได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่เกิน 0.11 เปอร์เซ็นต์ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาสีฟันมาก ๆ ในการแปรงฟันแต่ละครั้ง ควรบีบขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวก็เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังควรคอยดูแลไม่ให้บุตรหลานกลืนหรือรับประทานยาสีฟันเข้าไปด้วย
ยาสีฟันลดการเสียวฟัน เป็นยาสีฟันสำหรับผู้ที่ฟันไวต่อความรู้สึกหรือเกิดอาการเสียวฟันได้ง่าย เช่น เมื่อเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไปจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่เย็นจัด ร้อนจัด ซึ่งยาสีฟันประเภทนี้มักมีส่วนผสมของโพแทสเซียมไนเตรต (Potassium Nitrate) หรือสตรอนเทียมคลอไรด์ (Strontium Chloride) สารที่ช่วยบรรเทาอาการเสียวหรือระคายเคืองของฟันด้วยการไปอุดช่องทางของฟันที่เชื่อมต่อไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึกภายในฟัน โดยจะเห็นผลลัพธ์จากการใช้ภายใน 4 สัปดาห์
2.ยาสีฟันช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่มีสารฟอกขาวเป็นส่วนผสม หรือหากมีก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงไม่ควรคาดหวังถึงผลลัพธ์ฟันที่ขาวขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนการฟอกสีฟัน และไม่ทำให้สีโดยธรรมชาติของเนื้อฟันขาวขึ้นแต่ประการใด ยาสีฟันเพื่อฟันขาวประกอบด้วยวัสดุขัดถูหรือสารที่มีคุณสมบัติในการขัดถู รวมทั้งสารที่ช่วยสลายหรือละลายคราบ จึงช่วยขจัดคราบบนฟันที่อาจเกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ชา กาแฟ หรือการสูบบุหรี่ และมักไม่กรัดกร่อนหรือก่อความเสียหายให้ฟัน เนื่องจากไม่ได้มีความรุนแรงต่อเคลือบฟันมากไปกว่ายาสีฟันชนิดอื่น ๆ โดยการใช้ยาสีฟันชนิดนี้วันละ 2 ครั้ง อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์จึงจะเห็นผล
ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาสีฟันที่ช่วยทำให้ฟันขาวควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์แสดงการรับรองจากองค์กรทันตกรรมที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (ADA) ซึ่งจะยืนยันได้ว่ายาสีฟันดังกล่าวมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้
ยาสีฟันควบคุมคราบหินปูนและลดโรคเหงือก คราบชั้นการสะสมของแบคทีเรียบนฟันที่ล้วนมีกันทุกคนนั้นหากไม่ได้รับการแปรงทำความสะอาดอย่างเหมาะสม นานไปจะก่อตัวแข็งขึ้นกลายเป็นคราบหินปูนบนฟันและบริเวณใต้เหงือกซึ่งยากต่อการขจัด นำไปสู่การเกิดโรคเหงือกได้ในที่สุด
ยาสีฟันที่มีคุณสมบัติในการควบคุมคราบหินปูนโดยมากมีสารฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphate) ซิงค์ซิเตรท (Zinc Citrate) สารเหล่านี้ต่างได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพ และยิ่งมีสารต้านการสะสมคราบแบคทีเรียมากชนิด ก็ยิ่งให้ผลดีในการควบคุมคราบหินปูน นอกจากนี้ บางยี่ห้อยังอาจมียาปฏิชีวนะอย่างไตรโคลซาน (Triclosan) ที่จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากร่วมด้วย
3.ยาสีฟันชาร์โคล เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในระยะหลัง เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าชาร์โคลหรือถ่านกัมมันต์ซึ่งสามารถช่วยดูดซับสารพิษจะมีประสิทธิภาพในการขจัดคราบบนฟันออกไป ทำให้ฟันขาว และกำจัดกลิ่นปาก ทว่ายังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันอย่างแน่ชัดถึงความปลอดภัยหากใช้ชาร์โคลภายในปาก เช่นในกรณีที่เผลอกลืนเข้าไป ชาร์โคลจะไปทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคที่รับประทานหรือไม่ และจะส่งผลในการกำจัดแบคทีเรียได้อย่างไร
ด้วยข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของชาร์โคลที่ยังตอบไม่ได้ ทันตแพทย์ทั้งหลายเห็นพ้องกันว่าควรเลือกใช้ยาสีฟันชนิดนี้อย่างระมัดระวังและไม่บ่อยครั้งเกินไป หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ไม่ใช้ติดต่อเป็นเวลานานแม้จะรู้สึกว่าสุขภาพฟันยังเป็นปกติดีก็ตาม เนื่องจากชาร์โคลนั้นเป็นสารขัดถูอยู่แล้ว เมื่อรวมตัวกับสารขัดถูในยาสีฟันอีกจึงอาจมีฤทธิ์กัดกร่อนเคลือบฟันหากใช้เป็นประจำ และสำหรับผู้ที่มีปัญหาเหงือกร่น ก็อาจส่งผลให้รากฟันอ่อนแอจากการใช้ได้
4.ยาสีฟันสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพร เช่น พญายอ ใบฝรั่ง สะเดา เปลือกมังคุด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกัน ผสมกับ สารขัดฟัน เช่น เกลือสะตุ โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) ลิ้นทะเล สารปรุงแต่งกลิ่นและรส เช่น น้ำมันหอมระเหย พิมเสน การบูร เมนทอล อาจเติมส่วนผสมอื่น เช่น สารลดแรงตึงผิว สารเพิ่มความหนืด สารให้ความชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรีน